หากจะจารึกชื่อ โนแลน บุชเนลล์ เจ้าพ่ออะตาริ ลงในประวัติศาสตร์ แง่มุมที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน น่าจะเป็นการบอกปัดข้อเสนอของสตีฟ จ๊อบส์ (ในขณะนั้นทำงานให้อะตาริ พ.ศ. 2513) ซึ่งต้องการขยายเครือข่ายงานไปเปิดตลาดไมโครคอมพิวเตอร์ ในขณะเดียวกัน สตีฟ วอสเนี้ยกก็ได้เสนอเรื่องเดียวกันนี้ให้ผู้บริหารของบริษัท ฮิวเล็ตต์-แพ็กการ์ด และได้รับการปฏิเสธเช่นเดียวกัน ดังนั้น สตีฟกำลังสอง จึงลาออกมาจับมือกันเปิดบริษัท แอปเปิ้ล ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ออกจำหน่าย อีกเจ็ดปีต่อมา เมื่อมีคนยกเรื่องนี้คุยกับบุชเนลล์ เขาตอบว่า "...เห็นไหม? ฉันไม่เคยบอกว่าไม่เคยพลาด" โนแลน บุชเนลล์ สูงหกฟุตสี่นิ้ว ไว้เคราครึ้ม เป็นผู้ประกอบการที่เกิดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ผลงานที่เขาปลุกปั้นมากับมือประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมและแล้วล้มละลายย่อยยับหลายครั้งหลายครา แต่เขายังอยู่ พยายามดิ้นรนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทุกคนรู้จักเขาดีในฐานะพ่อมดมหัศจรรย์(รุ่นบุกเบิก)แห่งหุบเขาซิลิคอน |
โนแลน บุชเนลล์ เกิดในครอบครัวมอร์ม่อน ในเมืองแคลียร์ฟิลด์ มลรัฐยูท่าห์ บิดาเป็นผู้รับเหมาอิสระ เขาเป็นลูกคนที่สองในจำนวนสี่คน และเป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่ บิดาของเขาเคี่ยวเข็นลูกชายให้ทำงานหนัก และบุชเนลล์ก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวัง ในวัยเด็ก เขาเปิดแผงขายน้ำมะนาวเหมือนเด็กอเมริกันผู้ไม่หน่ายงานหนักทั่วไป แวววิศวกรในตัวเขา ฉายแววออกมาตั้งแต่ระยะต้นของชีวิต เพียงอายุได้ 10 ขวบ ก็มีความสามารถเพียงพอที่จะเป็นนักวิทยุสมัครเล่นแล้ว บิดาของเขาเห็นว่า เครื่องมืออุปกรณ์เหล่านี้มีราคาแพง หากบุตรชายต้องการจะเล่นต่อไป วิธีเดียวก็คือ ต้องหาเงินซื้อเอง ซึ่งนั่นเป็นกฏประจำครอบครัว
หากจะบอกว่า โนแลน บุชเนลล์ ทำงานส่งตัวเองจนเรียนจบมหาวิทยาลัยยูท่าห์ ก็คงจะเป็นการประเมินค่าต่ำเกินไป บุชเนลล์เริ่มต้นตั้งแต่การเร่ขายใบปลิวประกาศแจ้งความและกิจกรรมของมหาวิทยาลัย คติประจำใจของบุชเนลล์คือ หากต้องการเก็บเงินก็ต้องทำงานเพิ่ม ดังนั้น เขาจึงไปทำงานภาคค่ำที่สวนสนุกลากูน และทำงานนั้นเต็มเวลาในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ในตอนเข้าทำงานระยะแรก เขาเป็นเพียงลูกจ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนจบมหาวิทยาลัย เขาเป็นเจ้าของแผงเกม มีลูกจ้างเด็กๆมาช่วยงานถึง 100 คน
บอกด้วยความภูมิใจที่สอบได้ที่โหล่
ในขณะที่เรียนมหาวิทยาลัย เขามีโอกาสได้สัมผัสคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งก็แน่นอนว่า ไม่มีอะไรตื่นตาตื่นใจ นอกจากเล่นเกมคอมพิวเตอร์เท่านั้น บุชเนลล์ได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต เกรดคะแนนไม่อาจเอื้อมไปคว้าเกียรตินิยม เมื่อมีคนถามถึงคะแนน เขาบอกด้วยความภูมิใจว่า คงได้ที่ 197 ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งมีนักศึกษา 197 คน
นอกจากจะเรียนหนังสือและทำงานเต็มที่ กิจกรรมนอกหลักสูตรอีกอย่างหนึ่ง คือ พบภรรยาสุดที่รักในมหาวิทยาลัย
โนแลนด์ถือปริญญาวิศวกรรมฯไปสมัครงานที่วอลต์ ดิสนีย์ แต่ก็ได้รับการบอกปัด จากนั้น ไปได้งานวิจัยที่บริษัทแอมเพ็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในด้านวิดีโอเทป บริษัทแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองเรดวู้ดซิตี้ ซึ่งต่อมาภายหลังเป็นประตูเปิดสู่หุบเขาซิลิคอนที่เลื่องชื่อไปทั่วโลก
สนุกกับงานจนยึดห้องลูกสาว
โนแลน บุชเนลล์ เริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่ด้วยลูกสาวสองคนในบ้านล้อเลื่อนที่เมืองซานตาคลาร่า บุชเนลล์เบื่อหน่ายงานประจำที่ทำอยู่ ทุกวันจะต้องรีบกลับบ้านแสนรักซึ่งมีคอมพิวเตอร์เกมรอท่าอยู่ บุชเนลล์ใช้เวลาในยามว่างออกแบบวิดีโอเกม สนุกสนานกับงานอดิเรกจนต้องย้ายลูกสาวคนเล็กออกจากห้อง เพื่อจะได้มีห้องทำงานที่กว้างขวางยิ่งขึ้น
ความจริงแล้ว บุชเนลล์ไม่ใช่อัจฉริยะทางคอมพิวเตอร์เพียงคนเดียวที่มุ่งมั่นคิดค้นเกมท้าทาย หากจะสืบสาวไปถึงต้นตอจริงๆ ผู้ที่ให้กำเนิดวิดีโอเกม คือ นักศึกษา MIT ในต้นทศวรรษ 2500 เกมคอมพิวเตอร์ "Space War" ในยุคบุกเบิกจะต้องเล่นเกมกันในเมนเฟรม โปรแกรมเมอร์ทั่วประเทศได้คลายเครียดทุกเช้าก่อนจะถึงเวลาลงมือทำงาน ในระยะต่อมา ก็มีผู้พยายามจะเขียนโปรแกรมเกม "Space War" เพื่อผลิตขายในเชิงพาณิชย์
สร้างวิดีโอเกม...คนหยอดเหรียญเต็มจนเครื่องพัง
แต่เป็นที่แน่นอนว่า ก่อนการบุกเบิกของโนแลน บุชเนลล์ ... ไม่เคยมีใครสามารถผลิตวิดีโอเกมที่มีขนาดเล็กพอจะบรรจุลงตู้เกมวางไว้ในศูนย์การค้าทั่วทุกมุมเมือง
เกมแรกสุดจากฝีมือของบุชเนลล์ ชื่อ "Computer Space" แม้จะมีเนื้อหาที่เข้าท่า แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก จนกระทั่งถึงเกมที่สอง "Pong" ซึ่งเจาะเข้าตลาดเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย
"Pong" เป็นเกมที่ดึงเอาคนสองคนมานั่งหน้าจอทีวี แข่งขันเกมปิงปองอิเล็กทรอนิกส์ ความสำเร็จของเกมนี้ได้รับการกล่าวขวัญยกเป็นตัวอย่างในวงการคอมพิวเตอร์บ่อยครั้ง บุชเนลล์เริ่มต้นด้วยเครื่องเล่นเกมหยอดเหรียญเครื่องแรกติดตั้งที่ร้านแอนดี้แค้ปส์ทาเวิร์น ซึ่งอยู่ในเมืองซันนีเวล เจ้าของร้านโทรศัพท์มาแจ้งบุชเนลล์มาขนเครื่องกลับเพราะเครื่องขัดข้อง เมื่อเขาไปถึงที่ร้าน ปรากฏว่า เหรียญอัดเต็มเครื่องจนเครื่องไม่ยอมทำงาน ณ จุดนี้เอง ที่ทำให้บุชเนลล์รู้ว่า ความฝันกลายเป็นความจริงแล้ว
กำเนิดอะตาริ
ปี พ.ศ.2515 โนแลน บุชเนลล์ ลาออกจากบริษัทแอมเพ็กซ์ เพื่อก่อตั้งบริษัทอะตาริ ซึ่งคำว่า"อะตาร"ิ เป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งใช้ในเกม"โงะ" หมายความว่า รุก! ซึ่งก็เหมาะสมสำหรับบริษัทใหม่เป็นอย่างยิ่ง เพราะอะตาริเกิดขึ้นมาเพื่อผลิตเกมโดยเฉพาะ
ปี พ.ศ.2515 โนแลน บุชเนลล์ อายุ 29 ปี เริ่มก่อตั้งอะตาริด้วยเงินส่วนตัว เพียง 500 เหรียญ (13,000 บาท) เขาสั่งอุปกรณ์ที่จำเป็นในการผลิต "Pong" มูลค่าหลายพันเหรียญ โดยได้รับเครดิตจากร้านค้าเพียง 30 วัน ผลิตวิดีโอเกมส่งให้ผู้จัดจำหน่ายและขอรับเงินสดในทันที เพื่อนำไปชำระหนี้ค่าเครื่องอุปกรณ์ เขาชำระค่าสินค้าได้ถึง 28 งวด เครื่องเล่นเกม "Pong" เครื่องแรก ส่งออกจากโรงงานในเดือนพฤศจิกายน 2515
ปี พ.ศ.2516 อะตาริขายเครื่องเล่นเกม "Pong" ได้ถึง 10,000 ตู้ ราคาตู้ละ 1,200 เหรียญ
ปี พ.ศ.2518 อะตาริขายตลับเกมที่จะนำไปเล่นในครัวเรือน ห้างสรรพสินค้าเซียร์เพียงแห่งเดียว ซื้อเกมไปถึง 100,000 ตลับ
บริหารงานแถมด้วยเบียร์กับกัญชา
บุชเนลล์หลงรักเกมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่แรกเห็น จนกลายมาเป็นผู้ประดิษฐ์ตู้เกมที่สามารถเขี่ยตู้พินบอลให้หลุดไปจากตลาดได้อย่างไม่น่าเชื่อ ในยุคแรกเริ่ม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างพากันแลกเหรียญหยอดเครื่องกันอย่างบ้าคลั่ง บุชเนลล์จดจำยุคเฟื่องฟูได้ด้วยความประทับใจ แม้ว่าภรรยาจะขอหย่าขาดในปี พ.ศ.2518 ในยุคนั้น ไม่มีพิธีรีตองให้รุงรัง ทุกคนสวมเสื้อยืดกางเกงยินมาทำงาน วารสาร"ฟอร์จูน"รายงานว่า ในการประชุมของนักบริหารของอะตาริตลอดสามวันเต็มๆ ผู้บริหารนั่งล้อมวงดื่มเบียร์ตบท้ายด้วยกัญชา
กำไรมหาศาลจากอะตาริ
บุชเนลล์กระโดดลงไปคลุกคลีกับงานเต็มตัว ไม่ว่าวิศวกรของเขาจะผลิตเกมอะไรออกมา เขาจะต้องทดลองเล่นเป็นคนแรก และให้ความเห็นติชมเกมที่เขียนขึ้นมาใหม่ เขาเข้าใจงานของวิศวกร และพวกวิศวกรเหล่านั้นก็เต็มใจที่จะร่วมงานด้วย
หลายต่อหลายคนไม่เชื่อว่าเขาจะบริหารงานบริษัทได้ตลอดรอดฝั่ง แต่อะตาริก็ยังคงทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2519 อะตาริมียอดจำหน่ายผ่านหลักง 20 ล้านเหรียญ บุชเนลล์ไม่ได้นำกำไรออกจากบริษัท เงินกำไรส่วนใหญ่ทุ่มกลับเข้าไปในบริษัท
ในปีนี้เอง ที่เขาตัดสินใจขายกิจการบริษัทอะตาริ เหตุผลง่ายๆสั้นๆ ก็คือ ถึงเวลารวบรวมกำไรให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนเท่านั้นเอง โดยวอลต์ดิสนีย์ บริษัทที่เขาโปรดปรานที่สุด ส่งคนมาทาบทาม แต่แล้วก็ตัดสินใจไม่ซื้อ ในที่สุด บริษัทอะตาริที่ตกเป็นของวอร์เนอร์ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการแผ่นเสียงและโทรทัศน์ วอร์เนอร์จ่ายเงินซื้ออะตาริถึง 28 ล้านเหรียญ โนแลน บุชเนลล์ได้รับส่วนแบ่งจากการขายอะตาริ 15 ล้านเหรียญ
ความยุ่งยากของอะตาริ
หลังจากการขายอะตาริไปแล้ว บุชเนลล์ยังคงอยู่ช่วยงานอีกสองปี ในที่สุด วอร์เนอร์ก็ส่งคนของบริษัทเข้ามารับงานแทน ประธานบริษัทอะตาริคนใหม่ คือ เรย์มอนด์ แคสซาร์ เคยบริหารงานโรงงานทอผ้าเบอร์ลิงตันอินดัสตรีมาถึง 25 ปีเต็มๆ บุชเนลล์ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า "...ผมเห็นได้ในทันทีว่าความเสื่อมของอะตาริจะเกิดขึ้น ถ้าแคสซาร์มาทำงานที่นี่ เพราะผมไม่คิดว่าแคสซาร์จะเข้าใจพวกวิศวกรได้ หากจะทำงานกับวิศวกร ก็จะต้องลงมือทำงานด้วยกันจริงๆ ต้องปฏิบัติต่อพวกเขาเป็นพิเศษ ต้องนับถือความรู้ความสามารถของพวกเขา หากไม่มีความรู้ ก็บอกพวกเขาไปตรงๆว่าไม่รู้ และไม่ต้องไปก้าวก่ายงานของพวกเขา ปล่อยให้เขาแสดงฝีมือให้เต็มที่"
ความเห็นของบุชเนลล์ไม่ผิดพลาดแม้แต่น้อย บทความในวารสารเวสต์ บรรยายถึงการพบปะกันระหว่างแคสซาร์กับผู้ออกแบบโปรแกรมชั้นแนวหน้าของอะตาริสี่คน ซึ่งประกอบด้วย แลร์รี่ แคปลัน, เดฟ เครน, แอล มิลเลอร์ และ บ็อบ ไวต์แฮด
"ผู้ออกแบบเกมทั้งสี่คนเข้าพบแคสซาร์ซึ่งอยู่ในชุดสูทสากล วิศวกรทั้งสี่คนยังนิยมนุ่งเสื้อยืดกางเกงยีนเช่นเดิม ทั้งสี่คนต้องการให้วอร์เนอร์ให้เกียรติพวกเขาเหมือนกับที่ให้เกียรติต่อนักร้องในสังกัด นักร้องมีชื่อมีภาพบนหน้าปกแผ่นเสียง แล้วทำไมผู้ออกแบบเกมจะไม่ได้รับเกีรติเช่นนั้นบ้าง? นอกจากนี้ วิศวกรทั้งสี่ ยังต้องการส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์จากผลกำไร"
"คำตอบของแคสซาร์ก็คือ วิศวกรพวกนี้มีคุณค่าเหมือนพวกออกแบบผ้าเช็ดตัว... หาที่ไหนก็ได้... ใครๆก็ออกแบบเกมได้"
อีกห้าเดือนต่อมา มาเครน, มิลเลอร์ และไวด์เฮด ลาออกจากอะตาริ ไปตั้งบริษัทแอคติวิชั่น วิศวกรคนอื่นๆของอะตาริก็หนีออกไปตั้งบริษัทอิมแมจิก ซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญของอะตาริ
กิจกรรมของอดีตเจ้าพ่ออะตาริ
เกือบจะไม่มีอะไรเลยที่โนแลน บุชเนลล์จะไม่เข้าไปแตะ เขาริเริ่มตั้งคอมพิวเตอร์แค้มป์ "ทิมเบอร์ เท็ค" และตั้งคอมพิวเตอร์สโตร์ "เอ็กเซ็ก-เท็ค" ทุ่มเงิน 2 ล้านเหรียญเพื่อกอบกู้ฐานะของบริษัทแอดเว้นต์ซึ่งเป็นบริษัทผลิตจอฉายขนาดใหญ่ จากนั้น ก็สร้างพิซซา วิดีโอ อาร์เขต และห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีหุ่นยนต์เป็นครูสอน
พิซซา ไทม์ เป็นโครงการในฝันของบุชเนลล์ เขาเชื่อว่า โลกยุคอนาคตจะไม่มีใครปฏิเสธคอมพิวเตอร์ได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้น แหล่งที่เด็กๆจะเรียนรู้คอมพิวเตอร์ ก็คือ ศูนย์แห่งนี้
ต้นปี พ.ศ.2527 พิซซา ไทม์ เธียเตอร์ ล้มละลาย
ธุรกิจอีกอย่างของบุชเนลล์ที่ล้มพังพาบไม่เป็นท่า คือ บริษัทแอนโดรบ็อต การผลิตหุ่นยนต์ล้มเหลวขาดทุนย่อยยับไปถึง 3 ล้านเหรียญในระยะดำเนินการเพียงห้าเดือนแรก
บุชเนลล์ทุ่มเงินอีก 2.2 ล้านเหรียญ ซื้อบริษัทวิเดีย ซึ่งผลิตซอฟท์แวร์เกมเพียงอย่างเดียว บริษัทนี้ก่อตั้งโดยวิศวกรที่เคยทำงานอยู่กับอะตาริ
ปี พ.ศ.2525 บุชเนลล์มีบริษัทแค็ตตาลิสต์เทคโนโลยี ซึ่งให้ทุนอุดหนุนประดิษฐกรรมใหม่ๆ สิ่งที่เขาต้องการก็คือ การได้ลงมือทำงานและเล่นเกมอีกครั้ง แม้จะประสบความสำเร็จเป็นเศรษฐีเงินล้านไปแล้ว แต่เขาก็ยังคิดว่า เขายังคงเป็นวิศวกร และยังสนใจเล่นเกมอยู่
สุดท้าย โนแลน บุชเนลล์ อดีตเจ้าพ่ออะตาริ กลายเป็นประธานกรรมการของหกบริษัทในหุบเขาซิลิคอน
ผลงานที่น่าภูมิใจ
ผลงานที่พอจะนับได้ว่าเป็นความสำเร็จในการลงทุน คือ ภัตตาคารไลออนแอนด์คอมแพส เขาเปิดกิจการภัตตาคารมีระดับแห่งนี้ ปี พ.ศ.2525 เพราะต้องการจะให้เป็นที่เก็บเบียร์อังกฤษที่เขาโปรดปราน คือ ยี่ห้อ จอห์น เคอเรจ และ วัตนี่ส์ ภัตตาคารแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางที่พ่อมดแห่งหุบเขาซิลิคอนมาชุมนุมกัน ผู้จัดการร้าน คือ แนนซี่ ภรรยาคนใหม่ของบุชเนลล์
ในยุคต้นของอะตาริ บุชเนลล์อาจจะสวมเสื้อยืดกางเกงยีน แต่ในขณะนี้ บุชเนลล์แต่งกายอย่างพิถีพิถัน เดินทางด้วยรถโรลส์รอยซ์ ทรัพย์สินที่เขาประเมินและยืนยันเอง มีมูลค่ากว่า 70 ล้านเหรียญ
หากจะถามความเห็นของเขาในด้านการเมือง เขายังคงเชื่อมั่นในระบบผู้ประกอบการอิสระ ในความเห็นของเขา สิ่งที่น่าเกลียดที่สุดคือคำว่า "นโยบายอุตสาหกรรม" หากจะมีการนำประเทศให้รุ่งเรืองด้วยผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว บริษัทอะตาริหรือแอปเปิ้ลจะอยู่ในลำดับท้ายสุดในการประเมินผล เหตุผลสั้นๆที่บุชเนลล์ยกขึ้นมาอ้าง ก็คือ เพราะเทคโนโลยีไม่มีคะแนนเสียง ไม่มีการหาเสียงได้เหมือนเรื่องอื่นๆ เช่น เกษตรกรรม ฯลฯ
นอกจาเรื่องนี้แล้ว โนแลน บุชเนลล์ ยังประกาศไม่เห็นด้วยกับนักบริหารสำรวย เช่น เรจิส แม็คเคนนา และ วิลเลียม แฮมเบร็ค เขาให้ความเห็นว่า "... นักบริหารพวกนี้ เท้าไม่ติดพื้น ไม่มีทางจะดำเนินงานบริษัทไห้ไปตลอดรอดฝั่งได้" เทคนิคในการบริหารงานบริษัทของบุชเนลล์ คือ ในตอนแรกเริ่มก่อตั้งอะตาริ เขานำรถเมลล์ไปรับคนงานจนถึงเมืองโอ๊คแลนด์ เพราะหากไม่ไปรับ คนงานเหล่านี้กว่าครึ่งก็คงมาทำงานไม่ทัน ก็จะต้องได้รับเงินเดือนทุกเดือน ไม่ว่าเขาจะต้องเหนื่อยากเพิ่มขึ้นขนาดไหน" อีกเรื่องหนึ่งที่เขายกขึ้นมาเล่าให้ฟังก็คือ สามารถขัดขวางการจัดตั้งสหภาพแรงงานในอะตาริได้เป็นผลสำเร็จ ด้วยคะแนนเสียง 80:20 โดยพวก 20% นี้ เป็นพวกที่ไร้ประสิทธิภาพที่เขาใจอ่อนเกินไปที่จะไล่ออกได้
เรจิส แม็คเคนนา ให้ความเห็นตอบโต้คำกล่าวหาของบุชเนลล์ว่า "อย่างน้อยที่สุด บริษัทของฉันยังเปิดดำเนินการและทำเงินได้ ในขณะที่บริษัทของเขาล้มเหลวสิ้นดี"
โนแลน บุชเนลล์ ในอนาคต จะรุ่งเรืองหรือตกต่ำ ไม่มีใครกล้าพยากรณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธคือ โนแลน บุชเนลล์ เป็นผู้นำความบันเทิงมาใส่ตลับ
อะตาริ : ผู้บุกเบิกวิดีโอเกมและผู้ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์
ผลิตภัณฑ์ที่นำชื่อเสียงมาให้ : แพ็คแมน, ปอง, สเปซ อินเวเดอร์, เครื่องเล่นเกม วีซีเอส 2600, แอสเทอรอยด์, มิสซายย์ คอมแมนด์
ปีก่อตั้ง : พ.ศ.2515
ที่ทำการใหญ่ : เมืองซันนีเวล รัฐแคลิฟอเนีย
ยอดขาย : สองพันล้านเหรียญในปี พ.ศ.2525 และ หนึ่งพันล้านเหรียญในปี พ.ศ.2526
ขาดทุน : 500 ล้านเหรียญ
เจ้าของ : แจ็ค ทรามิล
โนแลน บุชเนลล์ ผลงานที่รู้จักแพร่หลาย : อะตาริ ผลงานอื่น : ซิสซิกกี้, แค็ตตาลิสต์ เทคโนโลยี, พิซซา ไทม์ เธียเตอร์, เซนเต้ เทคโนโลยี, ไลออน แอนด์ คอมแพส, แอนโดรบ็อต เกิด : พ.ศ.2486 บ้านเกิด : เมืองเคลียร์ฟิลด์ มลรัฐยูท่าห์ อาชีพบิดา : ผู้รับเหมาก่อสร้าง การศึกษา : วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยยูท่าห์ ทุนก่อตั้ง : 500 เหรียญ ทรัพย์สินปัจจุบัน 70 ล้านเหรียญ ที่อยู่ปัจจุบัน : วู้ดไซด์ รัฐแคลิฟอเนีย สถานะสมรส : หย่าร้าง และแต่งงานใหม่ บุตร : ลูกสาวสองคนจากการแต่งงานครั้งแรก และลูกชายสามคนจากการแต่งงานครั้งหลัง พาหนะ : โรลส์รอยซ์, เบ็นซ์, เปอร์โยต์ และอื่นๆอีกมากมาย |
ภาพถ่ายของ โนแลน บุชเนล |
จาก : นิตยสารไมโครคอมพิวเตอร์ เล่มที่ 25 เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2529 สำนักพิมพ์ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด
โดย : นพดล เวชสวัสดิื